การโอนรถใช้เอกสารอะไรบ้าง พร้อมข้อดี-ข้อเสีย ของการโอนลอย
การโอนรถ
พูดถึงเรื่อง การโอนรถ หลายคนกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการ หรืออยากจะหาข้อมูล แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร และเตรียมเอกสารอะไรบ้าง มีค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ เพื่อให้การโอนรถเป็นไปอย่างสะดวก ไม่ต้องเสียเวลาไปสำนักงานขนส่งหลายรอบ วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับโอนรถมาฝากทุกท่าน ทั้งการโอนรถแบบทั่วไป และการโอนลอย
การโอนรถ คือ การโอนกรรมสิทธิ์จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง โดยผู้โอนและผู้รับโอนต้องแจ้งต่อนายทะเบียนเฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ในรถซึ่งต้องเป็นรถที่จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว แต่การโอนสิทธิครอบครองที่จดทะเบียนแล้ว เช่น การเปลี่ยนผู้เช่าซื้อ ทางระบบทะเบียนถือว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรายการเท่านั้น
การโอนรถใช้เอกสารอะไรบ้าง
เอกสารที่ต้องใช้ในการโอนรถสำคัญมาก เพราะหากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่สามารถโอนรถได้ และยังทำให้เสียเวลา เสียความอารมณ์ เสียความรู้สึก ดังนั้น ควรเตรียมเอกสารในการโอนรถให้พร้อมซะก่อนค่อยเข้าไปดำเนินการโอนรถ ซึ่งในการโอนรถต้องใช้เอกสารดังต่อไปนี้
1. ใบคู่มือจดทะเบียนรถ
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของรถ
กรณี เจ้าของรถเสียชีวิตต้องใช้สำเนาใบมรณบัตร
กรณี โอนมรดก ต้องนำคำสั่งศาลหรือพินัยกรรมพร้อมสำเนา
กรณี เป็นนิติบุคคล ต้องใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
- ในกรณีผู้โอน และ/หรือ ผู้รับโอนไม่ได้มาดำเนินการด้วยตัวเอง ให้นำหนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบ
- สัญญาซื้อขาย พร้อมใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
- แบบคำขอโอนและรับโอน ซึ่งลงรายละเอียดและลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน
ขั้นตอนการโอนรถ
เมื่อเตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนในการโอนรถ ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
1. กรอกแบบฟอร์มคำขอและรับโอนที่ส่วนงานทะเบียนสำนักงานขนส่ง
2. เราต้องนำรถเพื่อรับการตรวจสภาพรถ ที่งานตรวจสภาพรถยนต์ที่สำนักงานขนส่งจังหวัด
3. เมื่อตรวจสภาพรถเสร็จ ก็ยื่นเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ และชำระค่าธรรมเนียมที่งานทะเบียนรถ
4. รับคู่มือจดทะเบียนรถ ใบเสร็จ เครื่องหมายเสียภาษี แผ่นป้ายทะเบียนรถ
โอนลอย ต้องใช้เอกสารยังไง
การโอนลอย คือ การที่ผู้ขายส่งมอบรถให้กับผู้ซื้อ พร้อมมอบแบบคำขอโอนและรับโอนรถ โดยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้โอน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เล่มทะเบียนรถ และหนังสือมอบอำนาจที่ลงลายมือชื่อไว้เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ไปจดทะเบียนโอนที่สำนักงานขนส่ง ในกรณีนี้ผู้ซื้อจะต้องเป็นคนเข้าไปดำเนินการที่สำนักงานขนส่งเอง
ซึ่งการโอนลอย ก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ผู้ซื้อและผู้ขายต้องพิจารณาให้ดี เพื่อที่จะไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้
ข้อดีของการโอนลอย
1. สะดวก รวดเร็ว สามารถส่งรถและเอกสารให้กับผู้ซื้อได้เลย จึงทำให้ธุรกิจซื้อขายรถมือสองนิยมใช้วิธีโอนลอยให้กับลูกค้า
2. สามารถเปลี่ยนตัวผู้โอนได้เสมอ
ข้อเสียของการโอนลอย
1. กรณีที่ผู้ซื้อยังไมไปจดทะเบียนโอนที่สำนักงานขนส่ง แต่เกิดขับรถไปเกิดอุบัติก่อน หรือนำรถไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะตรวจสอบไปทางสำนักงานขนส่งว่าใครเป็นเจ้าของรถ ซึ่งหากยังเป็นชื่อผู้ขายอยู่อาจจะต้องถูกเชิญไปให้ ปากคำ หรือโดนตั้งข้อหา ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากตามมาถึงแม้เราจะไม่ได้ทำผิดก็ตาม
2. กรณีบัตรผู้ขายหมดอายุ ก็จะมีปัญหาในการโอน โดยจะต้องเสียเวลาในการส่งเอกสารใหม่มาให้ หรือหากผู้ขายเสียชีวิต ก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการขอเอกสารใหม่
3. กรณีผู้ซื้อไม่ไปโอน และไม่มีการต่อภาษี ซึ่งชื่อในการค้างต่อภาษีก็จะยังเป็นชื่อผู้ขายอยู่
การโอนมอเตอร์ไซค์ เหมือนกับ รถเก๋งไหม
การโอนรถมอเตอร์โซค์และรถเก๋ง มีการเตรียมเอกสารและขั้นตอนการโอนที่คล้ายกัน แต่ก็จะมีบางขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไปแค่ลำดับก่อนหลัง คือ การโอนรถมอเตอร์ไซค์ จะต้องไปตรวจสอบสภาพรถก่อน ที่จะไปกรอกแบบคำขอและรับโอน ส่วนรถเก๋ง ต้องไปกรอกแบบคำขอและรับโอนก่อนค่อยไปตรวจสภาพรถยนต์ ส่วนขั้นตอนถัดไปก็ดำเนินการเหมือนกัน
การโอนรถ ใช้เงินเท่าไหร่
ในการโอนรถแน่นอนว่าต้องมีค่าธรรมในการโอนรถ เพื่อให้ผู้อ่านได้เตรียมเงินให้พร้อมก่อนการไปโอนรถ เป็นการประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้น จะได้ไม่เกิดปัญหาเมื่อไปถึงสำนักงานขนส่ง
1. ค่าคำขอ 5 บาท
2. ค่าธรรมเนียมการโอน 100 บาท
3. ค่าอากรแสตมป์ 500 บาท ต่อราคาประเมินรถทุก 100,000 บาท
4. ค่าเปลี่ยนป้ายทะเบียน 200 (ถ้าเปลี่ยน)
5. ค่าเปลี่ยนเล่มทะเบียน 100 บาท (กรณีเล่มทะเบียนชำรุด หรือ เก่า)
-----------------
------
🔥 ฟรี สมัครเป็นสมาชิกเว็บ724
รับสิทธิพิเศษมากมาย คลิกลิงค์นี้ (ฟรี)
-------
ซื้อ พ.ร.บ. ออนไลน์ ที่นี่
ซื้อแล้วต่อภาษีได้เลย
รับกรมธรรม์ออนไลน์ ภายใน 5 นาที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น